ในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือน มิ.ย. – ต.ค. นั้นเป็นอุปสรรคสำหรับการสร้างและซ่อมแซมบ้าน
อย่างฤกษ์ปลูกบ้านของไทยนั้นจะห้ามปลูกบ้านเดือน 6 เพราะเป็นช่วงหน้าฝนซึ่งทำอะไรได้ไม่สะดวกนัก
แต่ถ้าบ้านเกิดปัญหาก็คงรอไม่ได้ อาทิ การรั่วซึมตามขอบประตูหน้าต่าง หรือหลังคา ฉะนั้นจึงต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากันไป
แล้วค่อยว่ากันใหม่ในช่วงที่หมดพายุฝนกระหน่ำ อะไรบ้างที่เราพอจะซ่อมแซม
ดูแลกันได้ในหน้าฝน
1. กำจัดปลวก
ถ้าพบเห็นแมลงเม่าสลัดปีกทิ้งในบ้านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่า เรากำลังเจอกับกองทัพปลวกเข้าแล้ว
คำแนะนำ: เรียกบริษัทกำจัดปลวกมาตรวจเช็คสภาพบ้านทั้งภายในและภายนอก ระบบป้องกันและกำจัดปลวกมีให้เลือกใช้ทั้งแบบราด
เจาะพื้นเพื่ออัดน้ำยา และการใช้เหยื่อล่อ
หมายเหตุ: ตรวจสอบบริเวณบ้านและโครงสร้างสำคัญๆอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งอัดน้ำยากันปลวกใหม่ทุก
3-5 ปี
2. นก หนูมาทำรัง นกหรือหนูหนีฝนเข้ามาทำรังตามช่องโหว่ของฝ้าชายคาและลอนกระเบื้อง
คำแนะนำ: ปิดเชิงชายด้วยไม้ปิดลอนที่โค้งตามลอนกระเบื้องแล้วติดตั้งตาข่ายกันแมลงบนฝ้าชายคาที่เว้นร่องระบายอากาศ
มดยกทัพเข้าบ้าน มดก็ยกครัวเข้าบ้านหนีน้ำท่วมเช่นกัน
คำแนะนำ:
หาชอล์กไล่แมลงมาขีดรอบๆประตูหน้าต่าง
เพื่อกันมดแมลงสาบเข้าบ้าน หรือปิดขอบกันแมลงที่บานประตูหน้าต่างก่อนฝนจะมา
3. บานประตู หน้าต่างบวม ฝืดมีเสียงดังเวลาเปิด-ปิด
เพราะความชื้น ทำให้ประตูไม้ผุหรือบวมพอง
คำแนะนำ:
หยอดน้ำมันจักรที่บานพับเพื่อเพิ่มความลื่น แต่ถ้าบานเอียงหรือตกให้เปลี่ยนสกรูตัวใหม่ให้มีขนาดยาวกว่าเดิมแล้วเสริมด้วยกระดาษแข็งที่ด้านหลังเพื่อหนุนบานพับให้สูงขึ้น
หมายเหตุ:
ถ้าพบว่าประตูไม้ผุจนเกิดช่องโหว่ ให้เปลี่ยนใหม่เลยดีกว่า
4. ท่อระบายน้ำทิ้งในบ้านอุดตัน
คำแนะนำ:
ทำได้หลายวิธี เช่น ใช้ถ้วยยางอัดลม
งูเหล็ก รวมถึงการใช้สารเคมีกำจัดสิ่งอุดตัน
หมายเหตุ:
สำหรับท่อน้ำทิ้งภายนอกบ้านถ้าเกิดการอุดตัน
อาจแก้ได้ลำบาก แต่เราต้องหมั่นสังเกตการระบายน้ำให้ไหลลงท่อได้สะดวก
5. ร่องยาแนวกระเบื้องมีคราบสกปรกหรือมีเชื้อรา
คำแนะนำ:
ขูดยาแนวเดิมทิ้งไปแล้วเปลี่ยนยาแนวใหม่เป็นชนิดป้องกันราดำหรือทนกรด
6. พื้นทางเดินภายนอกบ้านลื่นหรือมีตะไคร่
คำแนะนำ:
ใช้น้ำยาสูตรฆ่าเชื้อราและตะไคร่น้ำขัดล้าง เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
หมายเหตุ: สกัดผิวหน้าเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความหยาบให้พื้นหรือเลือกใช้หินให้เหมาะกับงาน
7. บล็อกตัวหนอนทรุดตัว
คำแนะนำ:
ทาน้ำยาประสานรอยต่อเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดทรายที่อุดร่องบล็อกเคลื่อน
และช่วยป้องกันการทรุดตัว
8. ถังเก็บน้ำรั่ว ตรวจดูรอยรั่วและระบบลูกลอยในถังเก็บน้ำ
คำแนะนำ:
หากพบรอยรั่วซึมให้อุดด้วยอีพอกซีส่วนการเช็คระบบลูกลอยนั้นให้เปิดน้ำเข้าถังให้เต็ม
ถ้าน้ำล้นถัง แสดงว่าลูกลอยเสื่อมสภาพแล้ว ให้เปลี่ยนใหม่ทั้งชุด
หมายเหตุ: การใช้ถังเก็บน้ำ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรฝังใต้ดินเพราะดูแลรักษายาก
9. ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็น
คำแนะนำ:
ลองเปลี่ยนตะแกรงดักกลิ่นที่พื้นในห้องน้ำ โดยเลือกตะแกรงแบบที่มีน้ำขังในถ้วย
หรือใส่ท่อดักกลิ่นในส่วนปลายของท่อน้ำทิ้งก็พอจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นในห้องน้ำที่รุนแรงได้
10. เครื่องทำน้ำอุ่น/ร้อนในบ้านมีปัญหา
น้ำที่ออกมาเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นมักมีเหตุมาจากแรงดันน้ำน้อยเกินไป
คำแนะนำ:
แก้ไขด้วยการเพิ่มแรงดันปั๊มน้ำ และหากมีระบบกรองน้ำก่อนที่จะเข้าเครื่องก็จะช่วยลดการเกิดตะกรันในหม้อน้ำได้ในระดับหนึ่ง
หมายเหตุ:
แต่การเพิ่มแรงดันของเครื่องปั๊มอาจทำให้ท่อน้ำเสียหายได้ตามรอยต่อ
โดยเฉพาะสำหรับบ้านเก่าอาจต้องเรียกช่างมาตรวจสอบทั้งหลังด้วย
เมื่อคิดจะซ่อมบ้าน
เราควรเดินสำรวจความเสียหายทั้งหมดของบ้าน แล้วจัดลำดับความสำคัญที่ต้องซ่อมก่อนหลัง
หากงบประมาณจำกัด ให้เลือกซ่อมงานโครงสร้างก่อน เพราะเป็นเหมือนกระดูกของบ้าน หรือเลือกซ่อมในส่วนที่ทำให้เราเดือดร้อน
เช่น หลังคารั่ว เพื่อป้องกันปัญหาบานปลาย
|